การประชุมปฐมนิเทศการสำรวจ ออกแบบ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (หัวงานแนวผันน้ำ) จังหวัดเลย

     จากรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง: การพัฒนาระยะที่ 1 ของกรมชลประทานเมื่อปี พ.ศ. 2560 ผลการศึกษาสรุปได้ว่า จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ราบสูง โครงการสามารถผันน้ำจากแม่น้ำโขงที่จุดสูงสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณปากแม่น้ำเลย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ไหลผ่านอุโมงค์ผันน้ำและคลองลำเลียงน้ำ เพื่อส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วงให้พื้นที่การเกษตร โดยมีพื้นที่ชลประทานศักยภาพ 1.73 ล้านไร่ (ระยะที่ 1) ครอบคลุมพื้นที่ 27 อำเภอ ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย ขอนแก่น ชัยภูมิ และกาฬสินธุ์ อีกทั้งปัจจุบันสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำลังดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วงปากแม่น้ำเลย – เขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อความสมบูรณ์และเสนอ คชก. พิจารณาต่อไป ในโอกาสนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านสำรวจ ออกแบบ กรมชลประทานโดยสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม จึงได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า PPWF JV เพื่อดำเนินการ สำรวจ ออกแบบ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (หัวงานแนวผันน้ำ) จังหวัดเลย

     ระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2568 กรมชลประทานร่วมกับกิจการร่วมค้า PPWF JV จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการ จำนวน 3 เวที เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ และนำเสนอประโยชน์ของโครงการฯ ให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องรับทราบ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการดำเนินงานโครงการต่อไป ในการนี้ มีนายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม

เวทีที่ 1 จ.เลย ได้รับเกียรติจาก นายประยูร อรัญรุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และกล่าวรายงานโดย นายขจร ใบพลูทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสำรวจ

เวทีที่ 2 จ.หนองบัวลำภู ได้รับเกียรติจาก นายศศิน พัฒนภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และกล่าวรายงานโดย นายขจร ใบพลูทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสำรวจ

เวทีที่ 3 จ.ขอนแก่น ได้รับเกียรติจาก นายศิรวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และกล่าวรายงานโดยนายพงศ์พิชญ์ ยอดยิ่ง วิศวกรชำนาญการ

Scroll to Top